พูดคุยกับเราได้ที่

0 2646 3555

ประเภทบัตรเครดิตมีอะไรบ้าง แต่ละใบต่างกันอย่างไร

ประเภทบัตรเครดิตมีอะไรบ้าง แต่ละใบต่างกันอย่างไร
 
ประเภทบัตรเครดิตมีอะไรบ้าง แต่ละใบต่างกันอย่างไร
 
 

เมื่อวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป แต่สิ่งหนึ่งที่เข้ามาเปลี่ยนให้โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปก็คือ การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ผู้คนเลือกที่จะสัมผัสเงินน้อยลง แล้วหันมาใช้รูปแบบของการใช้จ่ายประเภทอื่นๆ แทน ซึ่งหนึ่งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นที่นิยมในยุคนี้ก็คือ “บัตรเครดิต” ที่สามารถใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการได้แทนเงินสด และยังสามารถมอบสิทธิประโยชน์และความคุ้มค่าต่างๆ ให้แก่ผู้ถือบัตรได้
 
แต่ท่ามกลางบัตรเครดิตหลากหลายชนิดบนโลกใบนี้ เราจะเลือกบัตรเครดิตอย่างไรให้เหมาะสมกับตัวเอง? วันนี้เราจะพาทุกท่านไปค่อยๆ ทำความเข้าใจกับบัตรเครดิต ประเภทบัตรเครดิต เงื่อนไขต่างๆ ในการสมัครบัตรเครดิต ความแตกต่างระหว่างบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด รวมถึงการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตไปพร้อมๆ กัน
 

บัตรเครดิตคืออะไร

บัตรเครดิต (Credit Card) คือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้แทนเงินสดเพื่อจ่ายค่าสินค้าบริการ โดยที่เรายังไม่ต้องจ่ายเงินสดออกไปทันที แล้วจึงค่อยจ่ายคืนตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา หากเกินระยะเวลาที่กำหนดก็จะต้องถูกคิดดอกเบี้ยด้วย ซึ่งบัตรเครดิตจะถูกออกบัตรโดยธนาคารพาณิชย์​ ​​และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งผู้ถือบัตรก็จะได้สิทธิประโยชน์หลากหลายแบบตามที่ผู้ออกบัตรกำหนด เช่น การเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า, คะแนนสะสมเพื่อแลกของรางวัล, ส่วนลดจากร้านค้า, การผ่อนชำระดอกเบี้ย 0%, เงินคืน (Cash Back), ที่จอดรถพิเศษ, ห้องรับรองพิเศษตามสนามบิน เป็นต้น โดยการใช้บัตรเครดิตก็ควรศึกษาเงื่อนไขให้ครบถ้วน เพื่อที่เราจะได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุดตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง
 

ประเภทบัตรเครดิตมีอะไรบ้าง


*ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16%



ประเภทบัตรเครดิตมีอะไรบ้าง

“บัตรเครดิตมีกี่ประเภทกันแน่?” สำหรับคุณที่กำลังลังเลและตัดสินใจว่าเราเหมาะกับบัตรเครดิตประเภทไหน หากแบ่งตามขอบเขตของใช้จ่ายและรูปแบบการใช้บัตรแล้วจะสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทคือ
  • บัตรเครดิตที่ใช้ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (International Credit Card) 
    เป็นประเภทบัตรเครดิตที่สามารถใช้ชำระเงินได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นบัตรเครดิตที่เรามักจะคุ้นเคยกันดี เช่น บัตรเครดิต Visa, MasterCard, American Express เป็นต้น
     
  • บัตรเครดิตที่ใช้ได้เฉพาะในประเทศ (Local Credit Card) 
    เป็นประเภทบัตรเครดิตที่สามารถใช้จ่ายได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น โดยผู้ออกบัตรจะเป็นสถาบันการเงินหรือธนาคารในประเทศไทย และเงื่อนไขในการใช้บัตรก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละสถาบันการเงินหรือธนาคาร
     
  • บัตรเครดิตเฉพาะร้านค้า (Store Card หรือ Private Label card) 
    เป็นประเภทบัตรเครดิตที่ออกโดยร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าและบริการในเครือข่ายห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าของตัวเอง

 

เครือข่ายการชำระเงินบัตรเครดิตคืออะไร


*ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16%



เครือข่ายการชำระเงินบัตรเครดิตคืออะไร มีประเภทไหนบ้าง

หากเราสังเกตป้ายรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต เราจะพบสัญลักษณ์อย่าง VISA หรือ MasterCard บนป้าย ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้เรียกว่า Payment Gateway หรือ “เครือข่ายการชำระเงินบัตรเครดิต” ที่เป็นผู้ให้บริการตัวกลางในการชำระเงินระหว่างร้านค้ากับผู้ออกบัตร ซึ่งจะชำระเงินแทนผู้ถือบัตรทุกครั้งที่มีการรูดเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วเครือข่ายการชำระเงินบัตรเครดิตก็ไม่ได้มีเพียงแค่ VISA หรือ MasterCard เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายผู้ให้บริการ เช่น
  • บัตรเครดิต VISA
    เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มต้นขึ้นจาก Bank of America เป็นบัตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ทำหน้าที่เป็นตัวกลางการใช้ทั้งบัตรเครดิตและบัตรเดบิตทั่วโลก อีกทั้งยังสามารถรองรับได้หลายสกุลเงิน
     
  • บัตรเครดิต MasterCard 
    เป็นอีกหนึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายจากสหรัฐอเมริกา เกิดจากความร่วมมือของ 4 ธนาคารแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย คือ United California Bank, Bank of California , Wells Fargo และ Crocker National Bank และต่อมาก็ควบรวมกับผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ในยุโรปอย่าง Europay International ทำให้ MasterCard เข้ามาเป็นเครือข่ายบัตรเครดิตชั้นนำของโลกและสามารถใช้จ่ายได้อย่างครอบคลุมทั่วโลกเช่นเดียวกับ VISA
     
  • บัตรเครดิต JCB 
    มีชื่อเต็มว่า “Japan Credit Bureau” เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายจากประเทศญี่ปุ่น เหมาะสำหรับผู้ถือบัตรที่ต้องการชำระค่าสินค้าและบริการจากญี่ปุ่นเป็นหลัก เช่นร้านอาหารญี่ปุ่น แบรนด์แฟชั่นญี่ปุ่น สินค้าญี่ปุ่น รวมถึงการใช้จ่ายในประเทศญี่ปุ่น โดยผู้ถือบัตรของ JCB จะได้รับสิทธิพิเศษในการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น อย่างเช่น การจองตั๋วเครื่องบิน เลาจ์พิเศษ โรงแรมในญี่ปุ่นอีกด้วย
     
  • บัตรเครดิต UNIONPAY 
    เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายจากประเทศจีน UNIONPAY ที่สามารถใช้ได้ใน 181 ประเทศ และสามารถออกบัตรได้ใน 79 ประเทศทั่วโลก และมีโครงการที่จะขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย UNIONPAY สามารถใช้ชำระค่าใช้จ่ายได้ตามร้านค้าเช่นเดียวกับผู้ให้บริการเครือข่ายอื่นๆ 
     
  • บัตรเครดิต American Express หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อของบัตร AMEX ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายในระดับพรีเมียมของโลก มีทั้งบัตรเครดิตประเภทบัตรชาร์จการ์ด ไม่กำหนดวงเงินค่าใช้จ่าย แต่ต้องชำระบิลเต็มจำนวน และบัตรเครดิตทั่วไป ที่มีการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายเหมือนกับบัตรเครดิตทั่วไป


 

บัตรเครดิต กับ บัตรกดเงินสด ต่างกันอย่างไร

*ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16%
 

บัตรเครดิต กับ บัตรกดเงินสด ต่างกันอย่างไร

บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ล้วนเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ทำให้เราได้รับอย่างมหาศาล หากรู้จักบริหารการเงินได้อย่างเหมาะสมและมีการวางแผนการเงินที่ดี โดยมีความแตกต่างใน 2 ด้านคือ
  • การชำระเงิน
    บัตรเครดิต - ผู้ออกบัตรจะกำหนดรอบระยะเวลาชำระเงินให้ เช่น ตัดรอบทุกวันที่ 10 และชำระเงินคืนภายในวันที่ 25 เป็นต้น โดยถ้าหากเราชำระเงินคืนเต็มจำนวนภายในวันครบกำหนดก็จะไม่เสียดอกเบี้ยใดๆ แต่ถ้าชำระหลังวันครบกำหนดก็ต้องชำระดอกเบี้ยโดยนับตั้งแต่วันที่รูดบัตร
    บัตรกดเงินสด - “ยิ่งชำระคืนเร็ว ยิ่งดี” เพราะผู้ออกบัตรจะคิดดอกเบี้ยทุกวันตั้งแต่วันที่กดเงินสดออกมาจนถึงวันที่ชำระครบจำนวน 
  • การใช้งานบัตร
    บัตรเครดิต - สามารถใช้รูดเพื่อชำระเงินแทนเงินสดตามร้านค้าและบริการที่รับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตได้ทันที 
    บัตรกดเงินสด - ใช้สำหรับการเบิกถอนเงินสดออกมาในกรณีเร่งด่วน ตามวงเงินที่ผู้ออกบัตรกำหนดให้

 

ข้อดีของบัตรเครดิต

หากเราลองค้นหาข่าวสารที่เกี่ยวกับบัตรเครดิต เราอาจจะพบกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการที่ผู้ถือบัตรไม่สามารถชำระคืนได้ตามยอดเงินและเวลาที่กำหนด จนทำให้ต้องพบกับค่าใช้จ่ายที่ทวีคูณขึ้น และเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนกลัวการใช้บัตรเครดิตไป แต่อย่างไรก็ตาม “บัตรเครดิตไม่ใช่ผู้ร้ายของการใช้เงิน” เพราะถ้าหากเราศึกษาข้อมูลก่อนใช้ ก็จะทำให้เราสามารถบริหารการเงินได้อย่างคล่องตัวขึ้น
 
โดยข้อดีของบัตรเครดิตที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ
  • ไม่ต้องพกเงินสดไปทุกที่ 
    การใช้บัตรเครดิตจะทำให้เราไม่จำเป็นที่จะต้องพกเงินสดในจำนวนมากไปในสถานที่ต่างๆ ไม่ต้องวิ่งหาตู้เอทีเอ็ม และไม่ต้องกังวลเรื่องการหาเงินทอน เพราะเราสามารถชำระต้องบัตรเครดิตใบเดียวได้ทันที อีกทั้งเหมาะสำหรับการไปต่างประเทศ ที่ช่วยให้เราสามารถซื้อของได้แม้ไม่ได้แลกเงินในสกุลประเทศนั้น
     
  • มีสภาพคล่องสูงขึ้น 
    โดยปกติแล้วการชำระผ่านบัตรเครดิต จะต้องชำระคืนภายใน 10 – 45 วัน ซึ่งถ้าหากเรามีการวางแผนการเงินและบริหารการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    ก็จะช่วยให้เราสามารถรักษาสภาพคล่องของตัวเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินทันที เช่น การรักษาพยาบาล 
     
  • มีโปรโมชั่นและสิทธิประโยชน์มากมาย 
    บัตรเครดิตมักจะเสนอโปรโมชั่นและสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ถือบัตร ซึ่งถ้าเราต้องซื้อสินค้าและบริการนั้นอยู่แล้ว การใช้บัตรเครดิตจะช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย เช่น ส่วนลดตามร้านค้าต่างๆ, โปรโมชั่นเงินคืน (Cash Back), บริการพิเศษโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือการแลกรับของรางวัลจากการสะสมแต้ม
     
  • ป้องกันความเสี่ยงในการถูกโจรกรรม 
    การใช้บัตรเครดิตจะช่วยให้เราไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมาก ซึ่งสามารถป้องกันความเสี่ยงในการโจรกรรมได้ อีกทั้งบัตรเครดิตยังมีระบบความปลอดภัยอย่างการตรวจสอบประวัติการใช้งาน, ระบบการยืนยันตัวตน และการอายัดบัตรเมื่อบัตรเครดิตหาย 
     
  • สร้างประวัติทางการเงินหรือเครดิตบูโร 
    การใช้บัตรเครดิตจะทำให้เรามีประวัติทางการเงินหรือเครดิตบูโร ซึ่งถ้าเราชำระยอดเต็มจำนวนและตรงตามเวลาที่กำหนด จะทำให้เรามีประวัติที่ดี น่าเชื่อถือ ซึ่งสำคัญมากต่อการได้รับอนุมัติสินเชื่อประเภทอื่นในอนาคต


 

บัตรเครดิตได้วงเงินเท่าไหร่


*ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16%

 

บัตรเครดิตได้วงเงินเท่าไหร่ 

โดยปกติแล้ว ผู้ออกบัตรจะทำการขอเอกสารเพื่อพิจารณารายได้ของผู้ถือบัตรเครดิต และอนุมัติตามเกณฑ์ขั้นบันไดของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนี้

  • รายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 15,000 บาท แต่น้อยกว่า 30,000 บาท วงเงินอนุมัติ 1.5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
  • รายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 30,000 บาท แต่น้อยกว่า 50,000 บาท วงเงินอนุมัติ 3 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
  • รายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป วงเงินอนุมัติ 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
ซึ่งนอกจากจะพิจารณารายได้ต่อเดือนแล้ว รายได้ที่ได้รับควรเป็นรายได้ประจำ เพื่อการันตีว่าผู้ถือบัตรจะสามารถชำระหนี้ได้ตรงตามเวลาที่กำหนดหรือครบตามยอดขั้นต่ำในทุกๆ เดือน 
 


บัตรเครดิตมีค่าธรรมเนียมในการสมัครหรือไม่

คำตอบก็คือ “มีครับ” โดยเมื่อเราตัดสินใจที่จะสมัครบัตรเครดิตแล้ว ทางผู้ออกบัตรจะคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีเพื่อรักษาการใช้บัตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งค่าธรรมเนียมนั้นก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของบัตรและผู้ออกบัตร เช่น บางธนาคารก็ออกบัตรเครดิตสำหรับผู้ที่มีรายได้ 15,000 บาท/ปี โดยที่ผู้ถือบัตรไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี หรือบัตรเครดิตบางประเภทที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีเมื่อผู้ถือบัตรมีการใช้จ่ายครบตามยอดที่กำหนด ซึ่งเราสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมได้จากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสอบถามได้โดยตรงจากผู้ออกบัตร
 
 

การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต คิดอย่างไร

เรื่องสำคัญที่ผู้ใช้บัตรเครดิตควรศึกษาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบก็คือ อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 
  • การคิดดอกเบี้ย
    โดยผู้ออกบัตรจะเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ รวมกันได้ไม่เกิน  16% ต่อปี โดยมีวิธีคำนวณ 2 แบบตามการใช้บัตรคือ
    • หากเราชำระคืนไม่เต็มจำนวนหรือชำระล่าช้า 
      คิดดอกเบี้ยตามยอดเงินใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่รูดจ่าย, วันที่สรุปยอดรายการใช้จ่าย หรือวันที่ครบกำหนดชำระก็ได้ และแบ่งการคิดดอกเบี้ยออกเป็น 2 ส่วน คือ 
      • คิดเต็มจำนวนจนถึงวันก่อนครบกำหนดชำระเงิน 
      • หักส่วนที่ชำระแล้วออก แล้วคิดดอกเบี้ยตามยอดคงค้าง  นับจากวันที่ชำระจนถึงวันสรุปยอดถัดไป
    • หากมีการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต ก็จะเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่เบิกถอนเงินสดออกมา
       
  • การคิดค่าธรรมเนียม
    นอกจากนี้ ยังมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ ตามข้อกำหนดของผู้ออกบัตรแต่ละแห่ง เช่น ค่าธรรมเนียมในการชำระเงินผ่านช่องทางต่างๆ, ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศ, ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ เป็นต้น 
     
    โดยเราในฐานะของผู้ถือบัตร จะต้องชำระหนี้ขั้นต่ำในแต่ละงวดไม่น้อยกว่า 10% ของยอดคงค้างทั้งหมด

     

คุณสมบัติของผู้สมัครบัตรเครดิต

อยากทำบัตรเครดิตให้ผ่าน ควรมีคุณสมบัติพื้นฐานอะไรบ้าง? ตามปกติแล้วแต่ละธนาคารจะกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครบัตรเครดิตไว้ โดยผู้สมัครมีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองว่าตรงตามข้อกำหนดหรือไม่ เช่น
  • ต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป หรือน้อยกว่าตามที่ผู้ออกบัตรกำหนด
  • ต้องมีฐานเงินเดือนอย่างน้อย 15,000 บาท หรือน้อยกว่าตามที่ผู้ออกบัตรกำหนด
  • มีระยะเวลาการทำงานอย่างน้อย 6 เดือน โดยต้องยื่นทั้งสลิปเงินเดือนและ Statement กับผู้ออกบัตร แต่ถ้าเป็นเจ้าของกิจการ กิจการนั้นจะต้องดำเนินมาไม่น้อยกว่า 1 ปี
  • ต้องไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้

โดยเราสามารถเช็กประวัติทางการเงินหรือเครดิตบูโรของตัวเองได้ที่ทำการบริษัท (ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร), ตู้คีออส และทางออนไลน์ได้ทางแอปพลิเคชันทางรัฐ
 
โดยสรุปแล้ว การที่เราจะเลือกบัตรเครดิตของตัวเองสักใบ จะต้องพิจารณาประเภทบัตรเครดิตที่เหมาะสมกับตัวเอง ถ้าต้องการใช้บัตรเครดิตทั้งในและต่างประเทศ ก็แนะนำให้มองหา “บัตรเครดิตที่ใช้ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (International Credit Card)” เป็นหลัก แต่ถ้าต้องการบัตรเครดิตสักใบที่ให้สิทธิประโยชน์ในประเทศเป็นหลัก โดยไม่ต้องการใช้ใบนี้ในต่างประเทศ ก็ให้มองหา “บัตรเครดิตที่ใช้ได้เฉพาะในประเทศ (Local Credit Card)” และถ้าหากเราใช้จ่ายและใช้บริการจากร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าใดเป็นประจำ ก็แนะนำให้ลองสมัคร “บัตรเครดิตเฉพาะร้านค้า (Store Card หรือ Private Label card)” ของร้านค้านั้นๆ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าที่สุด ในจำนวนเงินเท่าเดิมที่เราใช้จ่ายเป็นประจำทุกเดือน แต่สิ่งที่จะได้เพิ่มเติมมาก็คือ ส่วนลดและสิทธิพิเศษหลายด้านที่จะทำให้เราเกิดความคุ้มค่ามากขึ้นนั่นเอง
 
สุดท้ายนี้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ “ความสามารถในการใช้จ่ายและวินัยทางการเงินของตัวเอง” ควรมีการวางแผนทางการเงินที่ดี ใช้ควรใช้จ่ายเกินตัว ถ้าหากเราสามารถใช้บัตรเครดิตได้อย่างชาญฉลาด เราก็จะพบกับความสุขทางการเงินที่พอดีกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้ในที่สุด
 
หากใครที่สนใจบัตรเครดิตที่มีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม สามารถรองรับได้ทุกไลฟ์สไตล์ มีโปรโมชันสุดคุ้มในร้านค้าและบริการ รวมถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ก็สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของบัตรเครดิต ธนาคารกรุงศรีได้ที่ https://www.krungsricard.com/th/Product  



บัตรเครดิต กรุงศรี วีซ่า แพลทินัม